
รอยสัก (Tattoo) ทำให้คนเลวจริงหรือ ?
รอยสัก (Tattoo)
คำว่า รอยสัก (Tattoo) มาจากรากศัพท์ภาษาฮิติ (Tatan) เป็นศิลปะที่เรียกได้ว่าเก่าแก่แขนงหนึ่ง ในบรรดาศิลปะแขนงต่างๆบนโลก
ศิลปะ รอยสัก (Tattoo) ได้ถือกำเนิดขึ้นมามากกว่า 4,000 ปี เริ่มขึ้นจากรอยสักบนร่างกายมัมมี่ จากประเทศอียิปต์ อารายธรรมที่เรียกได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก และได้เริ่มแพร่หลายออกไปทั่วทุกแห่งบนโลก และได้รับการสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ก่อนที่มนุษย์จะคิดค้นรอยสักขึ้นมาได้นั้น พวกเขาเหล่านั้นได้ใช้วิธีเขียนหน้า และร่างกายด้วยสีต่างๆจากธรรมชาติ แต่การใช้สีที่ได้จากธรรมชาตินั้น ย่อมไม่ติดทนเท่าใดนัก เมื่อเวลาโดนน้ำ หรือปล่อยทิ้งไว้ในระยะเวลานาน สีเหล่านั้นก็เกิดการลบเลือนลงไป ผู้คนจึงพยายามหาวิธีที่จะทำให้สีเหล่านั้นติดทนถาวร

โดยในสมัยนั้น การสักนั้นจะต้องใช้เข็มสัก โดยวิธีทำเข็มสักนั้น ได้มีการนำเอาหนามของต้นไม้บางชนิด เช่น ต้นหวาย,ต้นไผ่ หรือขนเม่น มาทำเป็นเข็ม แต่เข็มที่ได้จากธรรมชาติพวกนี้ เมื่อใช้จนหมดความแหลมคมแล้วต้องไปหาหนามมาทำเข็มใหม่ เพราะไม่สามารถนำหนามเหล่านั้น กลับมาเหลาใหม่ได้ ต่อมาเมื่อมีการหลอมโลหะขึ้น จึงเกิดการพัฒนาเข็มสักที่ทำมาจากโลหะ และในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นเหล็กชุบโครเมี่ยม หรือแสตนเลส เพื่อป้องกันการเกิดสนิม
หมึกที่ใช้ในการสักนั้น เมื่อก่อนคิดค้นมาจากสารธรรมชาติ เช่น ดีหมี,ดีควาย,ยางไม้จากต้นหมึก,กระดูกคน,กระดูกสัตว์ เป็นต้น
สำหรับเครื่องสักไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันนี้นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1891 หรือเมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว โดยผู้คิดค้นคือ ทอม ไรลีย์ ซึ่งถือว่าเป็นวิวัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ของรอยสักที่มนุษย์เคยมีมาเลยทีเดียว

ในประเทศอิยิปต์ มีการขุดค้นพบซากมัมมี่ทั้งหญิงและชายซึ่งมีอายุกว่า 4,000 ปีมาแล้ว ที่มีรอยสักติดอยู่บนร่างกาย บ่งบอกได้ว่าในสมัยนั้นรอยสักเป็นที่นิยมกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จุดมุ่งหมายเพื่อบ่งบอกถึงฐานะทางสังคม
เมื่อเกือบ 1,000 ปีมาแล้ว ชนเผ่ามารี เชื่อว่าสักแล้วจะทำให้มีสุขภาพดี ร่างกายกระฉับกระเฉง และคงความเป็นหนุ่มสาวตลอดกาล
สำหรับชาวแมกซิโก เมื่อ 700 ปีก่อน นิยมสักเพื่อแสดงถึงยศถาบรรดาศักดิ์ และฐานะของวงศ์ตระกูล
สำหรับชาวอินเดียนแดง กว่า 300 ปีก่อน ก็นิยมทำการสัก เพื่อบ่งบอกถึงฐานะทางสังคมเช่นเดียวกัน
ในประเทศญี่ปุ่นรอยสักนั้นได้แสดงถึงความอดทน และการแบ่งแยกของกลุ่มต่างๆของผู้มีอิทธิพล หรือในอีกชื่อที่คุ้นหูกันว่า ยากูซ่า โดยในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นนั้น เคยถือว่ารอยสักเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับสังคมส่วนใหญ่ และเป็นของที่ไม่คู่ควรกับชนชั้นสูงมาแล้ว คนที่มีรอยสัก จะต้องถูกจับตามองจากรัฐบาลในสมัยนั้น จะไม่มีใครยอมว่าจ้าง หรือคบค้าสมาคมกับคนมีรอยสัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทัศนคติไม่ดีที่มีต่อรอยสักได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป จนเกิดการส่งเสริมและสนับสนุน จนรอยสักแบบญี่ปุ่นได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ในทวีปยุโรป ค.ศ.787 ผู้นำทางศาสนาได้มีการประกาศห้ามมิให้คริสต์ศาสนิกชนทำการสักลายบนร่างกายอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าทำให้ร่างกายสกปรก มีราคี และไม่บริสุทธิ์
ส่วนจุดมุ่งหมายของรอยสักในประเทศไทย ในสมัยก่อนนั้นมีขึ้นเพื่อให้มีกำลังใจในการสู้รบ เช่น ฟันไม่เข้า และมีไว้เพื่อเป็นกุศโลบาย เป็นสิ่งที่น่าเคารพนับถือ ไม่ต่างจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชนิดอื่นๆ ให้คนที่สักประพฤติตัวเป็นคนดี อยู่ในศีลในธรรมนั่นเอง
โดยในปัจจุบัน มุมมองต่อรอยสักของคนไทยนั้นได้ถูกพัฒนาขึ้น และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น รวมถึงได้มีการนำเอาวัฒนธรรมการสักลายจากของต่างประเทศ เข้ามามีบทบาททางสังคมมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่จะมีแต่การสักที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์
แต่ในบางบริบทสังคมในประเทศไทยก็ยังมีส่วนที่ยังไม่ยอมรับบุคคลที่มีรอยสัก เช่น การรับสมัครบุคคลเข้าทำงาน ในหลายๆบริษัท จะมีกฎระเบียบที่ว่า ไม่รับบุคคลที่มีรอยสัก ทั้งนี้เพราะต้องการความเรียบร้อย และต้องการรักษาภาพลักษณ์ (ในบรรทัดฐานของพวกเขา) รวมถึงความคิดของคนบางกลุ่มก็ยังเชื่ออยู่ว่า คนที่มีรอยสักคือคนไม่ดี
โดยส่วนผู้เขียนคิดว่า เรื่องการสักเป็นความชอบเฉพาะบุคคล ไม่ควรนำมาตัดสินคนๆนั้น ว่าคนๆนั้นเลวหรือดี หากควรจะดูที่การกระทำ และทัศนคติของคนๆนั้นแทน แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า มีคนอีกมากที่เลิกใช้บรรทัดฐานในการตัดสินคนที่รอยสักมากขึ้นเรื่อย
รอยสักนั้นเป็นศิลปะเก่าแก่ ที่ต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดและความอดทน ต้องใช้การดูแลรักษาอย่างดี กว่ารอยสักนั้นจะออกมาสวยงามอย่างที่ใจผู้สักต้องการ รวมถึงรอยสักยังเป็นการแสดงออกถึงตัวตนของคนๆนั้น และบอกเรื่องราวความชื่นชอบของคนๆนั้นได้ดี
อ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่
กดติดตามเราได้ ที่นี่

