Categories
BLOG MOVIE

วิเคราะห์ ภาพยนตร์เรื่อง PK (2014)

ภาพยนตร์เรื่อง PK หรือในชื่อภาษาไทยที่ว่า พีเค ผู้ชายปาฏิหาริย์ เป็นภาพยนตร์จากประเทศอินเดียเรื่องแรกที่ได้ลองเปิดใจรับชม ซึ่งเนื้อเรื่องย่อมีเรื่องราวเกี่ยวกับ มนุษย์ต่างดาวตนหนึ่งที่ได้ลงมาสำรวจโลก ได้ถูกชายคนหนึ่งขโมยรีโมทที่ส่งสัญญาณไปยังยานอวกาศและหลบหนีเข้าเมืองไป เขาจึงต้องตามหารีโมทนั้น โดยได้คำตอบจากมนุษย์หลายๆคนว่า ต้องให้พระเจ้าช่วยแล้ว เขาจึงได้เริ่มตามหาพระเจ้า เพื่อขอให้ได้รีโมทกลับคืนมา ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยผู้เขียนจะ ขอวิเคราะห์เนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง PK ตามความเข้าใจ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ PK (2014)
ภาพยนตร์เรื่อง PK (2014)

กำกับโดย Rajkumar Hirani

ประเภท : Comedy ,Drama , Romance


****การวิเคราะห์มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์****

ทฤษฎีรูปแบบนิยม

เป็นภาพยนตร์ประเภท : บอลลีวูด

ภาพรวมของหนัง : พูดถึงความหมายที่แท้จริงของศาสนา

ผู้ที่เล่าเรื่อง : Juggu และ PK

เทคนิคการเล่า : ขนาดภาพมีด้วยกันหลากหลาย ทั้งภาพขนาดไกล บ่งบอกถึงสถานที่นั้นๆว่าเป็นสถานที่ใด

มุมกล้อง เช่น มุมสูง บ่งบอกถึงความมีอำนาจในสังคม

เทคนิคการใช้สีและการจัดแสง มีการจัดแสงธรรมชาติ มีสีสันสดใส เหมาะกับธีมของหนัง

Aamir Khan in PK (2014)
วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง PK (2014) โดย ลุงยูรครีเอทีฟ

การวิจารณ์แบบ Joseph Cambell’s The Hero with a thousand face

ภาพยนตร์เรื่อง Pk มีโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบเดียวกัน โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับ มนุษย์ต่างดาวที่ลงมาสำรวจบนโลกมนุษย์ (วีรบุรุษออกเดินทางจากโลกที่คุ้นเคย) เขาโดนขโมยรีโมทควบคุมยานไป เขาจึงต้องตามหารีโมทที่สูญหาย โดยการซักถามจากทุกๆคน โดยทุกคนให้ความเห็นกับเขาว่า เขาต้องตามหาจากพระเจ้า มีแค่พระเจ้าเท่านั้นที่จะหารีโมทของเขาเจอ (มีคำแนะนำจากผู้รู้) เขาจึงได้ออกตามหาพระเจ้า โดยการเข้าไปร่วมอยู่ในทุกศาสนา ทุกนิกาย เพื่อสวดภาวนาให้ได้ของของเขาคืน แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ไปพบกับรีโมทของเขา ซึ่งอยู่กับผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนานิกายหนึ่ง ซึ่งบอกว่าพระเจ้าได้ให้รีโมทแก่ผู้นำศาสนา ตัวของเขาเองซึ่งได้พบกับหญิงสาวผู้ประกาศข่าว (จั๊กกู) ซึ่งกำลังมองหาข่าวใหม่ๆอยู่ จึงได้มาร่วมมือกัน เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับผู้นำจิตวิญญาณคนนี้ ว่าไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน เสมือนกับว่าเมื่อเราโทรไปหาใคร แล้วต่อสายผิดเบอร์ เราจะได้รับข้อมูลผิดๆมาจากคนๆนั้น จนสุดท้ายตัวเขาก็ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า พระเจ้านั้นมีอยู่จริง แต่คนส่งสารต่างหากที่หลอกลวง (เผชิญหน้ากับอุปสรรคมากมาย ต่อสู้จนชนะด้านมืด) สุดท้ายแล้วเขาได้รีโมทควบคุมยานคืน (กลับบ้านเกิด) และได้เดินทางกลับไปยังดาวของเขา โดยมีความทรงจำดีๆให้แก่หญิงสาวผู้ประกาศข่าว (เติบโตทางจิตวิญญาณ)

Aamir Khan in PK (2014)
วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง PK (2014) โดย LUNGYOONNS

สัญวิทยา ของภาพยนตร์เรื่อง PK มีดังนี้

1.Universal Symbol

ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือเงิน มีอยู่ฉากหนึ่งซึ่งตัวของpkเองได้เห็นการซื้อขายสินค้าด้วยเงิน โดยมีหน้าของมหาตมะ คานธี อยู่บนธนบัตร แต่เขาเข้าใจผิดว่า วัตถุสิ่งใดที่มีหน้าของมหาตมะ คานธี สามารถนำมาแลกสิ่งของได้ ในที่สุดเขาก็เข้าใจว่ามีเงินเพียงอย่างเดียวที่สามารถแลกซื้อสิ่งของได้

2.Metaphor Symbol

ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ

  • ตำรวจ ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้รักษากฎหมาย ปราบผู้ร้าย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามีอยู่ฉากหนึ่งที่ pk เดินเข้าไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจให้ตามหารีโมท อีกทั้ง เครื่องแบบตำรวจยังบ่งบอกถึง ความไม่โปร่งใส ความน่าเกรงขาม ซึ่งบ่งบอกอยู่ในฉากหนึ่งที่ pk บังเอิญใส่ชุดตำรวจ จากที่ปกติ ตัวของเขาต้องใช้เงินซื้อสิ่งของต่างๆ แต่เมื่อเขาใส่เครื่องแบบตำรวจ ผู้คนต่างนำอาหารมาให้เขา โดยที่เขาไม่ต้องร้องขอ
  • การแต่งกายของหญิงสาว ฉากหนึ่งซึ่ง Pk เห็นหญิงสาวใส่ชุดขาว ทำสีหน้าเศร้า เขาจึงเข้าไปปลอบ แต่กลับโดนคนรอบข้างทำร้าย เนื่องจากโดนหาว่าไปทำมิดีมิร้ายแก่หญิงหม้าย ที่สามีเพิ่งเสียชีวิต ถัดมาอีกไม่นาน เขาก็พบกับหญิงสาวใส่ชุดสีขาว เขาจึงเดินเข้าไปแสดงความเสียใจกับสามีที่เพิ่งเสียชีวิต แต่จริงๆแล้วเธอกำลังจะแต่งงาน โดยใส่ชุดเจ้าสาวสีขาว และเธอจึงบอกว่าคนที่ใส่ชุดสีดำต่างหาก ที่จะบ่งบอกว่าเป็นการไว้ทุกข์ให้ผู้เสียชีวิต เขาจึงเดินไปแสดงความเสียใจกับหญิงสาวมุสลิมที่เดินมากับสามี สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็น Metaphor Symbol ทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับศาสนาและวัฒนธรรมของแต่ละสถานที่

การวิเคราะห์ภาพยนตร์ เรื่อง PK โดยใช้แนวทางการเปรียบเทียบตระกูลภาพยนตร์ (Genre)

Aamir Khan in PK (2014)

ภาพยนตร์เรื่อง Pk จัดอยู่ในหมวดหมู่ของ Comedy , Drama และ Romantic โดยพิจารณาตามลักษณะดังนี้

1.เวลา อยู่ในช่วงเวลาปัจจุบัน

2.สถานที่ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย และประเทศเบลเยี่ยม

3.ตัวเอก : Pk (มนุษย์ต่างดาว) , จั๊กกู (ผู้ประกาศข่าว)

4.ตัวประกอบ : พ่อของจั๊กกู,พี่ชายใจดีของ Pk ,อัฟฟราน คู่รักของจั๊กกู

5.ตัวร้าย : ผู้นำทางจิตวิญญาณ,โจรที่ขโมยรีโมทของPk

6.โครงเรื่อง : การตามหารีโมทของ Pk ซึ่งนำไปสู่เรื่องราวของการค้นหาความจริงของความหมายของศาสนา

7.แก่นเรื่อง : พระเจ้านั้นมีอยู่จริง แต่มีพระเจ้าถึง 2 องค์ องค์แรกคือพระเจ้าตัวจริง อีกองค์นึงคือพระเจ้าตัวปลอมที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกของศาสนา ทำให้เกิดสงคราม ความเกลียดชัง พระเจ้าองค์นั้นคือผู้นำทางศาสนา

8.เครื่องแต่งกาย : เครื่องแต่งกายของขาวอินเดีย และชาวตะวันตก

9.อาวุธ : คำพูดของคน เปรียบได้กับอาวุธที่สร้างความเกลียดชัง และความแตกแยก

10.พาหนะ : รถยนต์,รถไฟ,มอเตอร์ไซค์ และยานอวกาศ


อีกทั้ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นแนวตลกแบบใช้สถานการณ์ Sit-com โดยใช้เหตุการณ์ต่างๆที่ตัวของ Pk ต้องเรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตของมนุษย์ด้วยตัวเอง เช่น เขาคิดมาตลอดว่า ถ้าอยากได้เงินและเสื้อผ้า ต้องไปหาจากรถที่เต้นได้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว รถที่เต้นได้ของเขาคือ หนุ่มสาวที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กันบนรถ โดยไม่ได้คำนึงถึงเสื้อผ้าและทรัพย์สินมีค่าที่ถูกหยิบไป

และเป็นตลกประเภท ตลกร้าย Black comedy คือเมื่อ Pk ต้องการที่จะตามหาพระเจ้า เขาได้ไปพบกับวัดๆหนึ่ง ซึ่งมีรูปปั้นของพระเจ้าขายอยู่ ด้วยความไม่รู้ เขาโดนหลอกให้ซื้อรูปหล่อของพระเจ้า เพื่อที่เขาจะขอพรให้สัมฤทธิ์ผล เมื่อเขาได้พร1 ข้อ และเขาจะขออีก กลับไม่สัมฤทธิ์ผล เขาจึงไปต่อว่าคนขายรูปปั้น คนขายรูปปั้นจึงหลอกให้เขาซื้อธูปเทียนไปถวายรูปปั้นที่ใหญ่กว่า เพื่อจะได้พรอย่างที่ใจขอ เมื่อเขาได้นำธูปเทียนดอกไม้ไปถวาย และจ่ายเงินไปจำนวนหนึ่ง เขาก็ยังไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการ เขาจึงถามผู้นำศาสนาว่าเมื่อไหร่จะสัมฤทธิ์ผล และคำตอบที่ได้ก็คือ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่ก็จะได้เอง บ่งบอกถึงความสับสน และสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ทำให้เราเห็นถึงความงุนงงของศาสนา เมื่อเรามีเงิน จ่ายเงินไปกับการขอพร แต่เรากลับไม่ได้รับพรกลับมา แต่ทุกคนก็ยังจะหวังพึ่งในการขอพร ทุกคนพร้อมที่จะเสียเงินในการอธิษฐาน ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าเราจะได้สิ่งนั้นกลับคืนมาหรือเปล่า ซึ่งต่างจากการซื้อของ เมื่อเราจะซื้อของซักสิ่งหนึ่ง เราใช้เงินที่ได้มาจากการทำงาน เพื่อแลกสิ่งที่เราต้องการ บางทีเราก็รู้สึกเสียดาย ถ้าจะซื้อสิ่งของ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการเสียเงินให้ศาสนา เราไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย นอกจากความสบายใจ ทุกๆคนรู้ดีอยู่แก่ใจ แต่เหมือนหลอกตัวเองว่า จ่ายเงินไปแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ซึ่งดิฉันคิดว่ามันเป็นตลกร้าย ที่เสียดสีผู้คนในทุกๆศาสนาได้เจ็บแสบที่สุด

การวิจารณ์แนวอิงบริบท

Aamir Khan in PK (2014)

ภาพยนตร์เรื่อง PK บ่งบอกได้ถึงลักษณะของสังคมปัจจุบันได้อย่างดีที่สุด เนื่องจาก โลกของเรา มีศาสนา และลัทธิต่างๆมากมาย อันเนื่องมาจากความกดดันของสภาพสังคมปัจจุบัน ทุกคนมีการแก่งแย่งชิงดี ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจน ปัญหาสุขภาพ ทำให้คนส่วนใหญ่หันไปหาที่พึ่งทางใจ นั่นคือศาสนา

ตั้งแต่เราเกิดมาเราได้ถูกกำหนดมาแล้วว่าเราควรอยู่ศาสนาใด ถูกเลือกโดยพ่อแม่ และเมื่อถูกเลือกแล้ว เราต้องมีศาสนาเดียว ห้ามเปลี่ยนศาสนา ห้ามนับถือศาสนาอื่น ห้ามมีคำถามกับศาสนา ห้ามสงสัย โดยที่เราไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เมื่อเรามีคำถาม ก็จะถูกผู้อาวุโสต่อว่า ว่าขาดความเคารพ เป็นคนไม่ดี เป็นคนป่าเถื่อน ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงของการกระทำเหล่านั้นคือความกลัว และการถูกปลูกฝังต่อๆกันมา ความกลัวในที่นี้นั่นก็คือ กลัวบาป กลัวถูกต่อว่า กลัวตกนรก ทุกๆคนบอกว่าศาสนาเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้เราเป็นคนดีและทำความดี ทั้งที่จริงแล้ว ศาสนาเป็นเครื่องแบ่งแยก แยกคนออกเป็นฝ่ายๆ ถ้าใครไม่ทำตามสิ่งที่ฝ่ายตนเองคิด ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิด ดูได้จากตอนที่PK เดินเข้าโบสถ์ไปหาพระเจ้า โดยถือน้ำมะพร้าว ธูปเทียน และถอดรองเท้าเข้าโบสถ์ สุดท้ายเขาโดนลากตัวออกมา และโดนต่อว่า ว่าเขาเป็นคนบาป ซึ่งทำให้พระเจ้าถูกตรึงไม้กางเขน เขาจึงหันไปถามว่าเมื่อไหร่ ชายคนนั้นก็ตอบว่า 2000 ปีที่แล้ว Pk สับสนกับสิ่งที่เขาทำมาก ว่าส่งผลกับชีวิตของพระเจ้าได้อย่างไร

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกแบนในหลายๆประเทศ เนื่องจากมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักศาสนา ไปในทำนอง ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ทำให้ไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่สามารถดูได้ทุกคน ดิฉันคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดเปิดกว้าง และยอมรับสิ่งใหม่ๆ รับฟังเหตุและผล และนำมาคิดไตร่ตรอง ได้ดีกว่าผู้ชมวัยกลางคน-ผู้ชมยุค Baby boom ซึ่งถูกปลูกฝังมานานแล้วว่าห้ามมีคำถามกับศาสนา โดยหากผู้ที่ไม่สามารถรับกับเนื้อหาของเรื่องได้จะเกิดการปิดกั้นทางความคิดและมองภาพยนตร์เรื่องนี้ในมุมอคติโดยทันที ว่าเป็นหนังที่ทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ เป็นหนังของคนป่าเถื่อน ไม่มีศาสนา ผู้เขียนจึงคิดว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะกับทุกคน

Sanjay Dutt and Aamir Khan in PK (2014)

การวิเคราะห์แบบ มาร์กซิสม์ (Marxism)

สังคมถูกขับเคลื่อนด้วยศาสนา เมื่อเราอยู่ในศาสนาใด สังคมจะแบ่งลักษณะตามศาสนานั้นๆ เช่น ศาสนาคริสต์ ใช้ไวน์ ในการขอพรพระเจ้า เข้าโบสถ์ต้องใส่รองเท้า ศาสนาฮินดูหรือพุทธ ต้องถอดรองเท้า ใช้ธูปเทียน และดอกไม้ในการขอพร ศาสนาอิสลาม ผู้หญิงต้องใส่ผ้าคลุมหน้า ไม่รับประทานเนื้อหมู บางศาสนาใส่ชุดสีดำ เพื่อขอพรแก่พระเจ้า

คนเราขอพรเพื่ออะไร อาจขอพรเพื่อต้องการสิ่งที่คิดหวัง ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศ สุขภาพ และความหวัง ซึ่งเปรียบได้เหมือนกับอุดมการณ์ที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้ขนานไปกับทุน ซึ่งทุนนั้นคือปัจจัยหลักในสังคม ทุกคนคิดว่า ถ้าขอพร เช่นการขอเงิน แล้วได้เงินตามที่ขอ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น เขาจะมีความสุขขึ้น และทำให้เขามีอำนาจในการกระทำสิ่งต่างๆ ที่ตอนนี้เขายังไม่มี ที่ตอนนี้เขายังไม่สามารถควบคุมได้ ผู้คนส่วนใหญ่ยอมที่จะไปต่อแถว เพื่อที่จะขอพร ยอมเสียเงิน เพื่อการขอพร โดยที่ไม่รู้ว่าจะได้สิ่งที่ต้องการหรือเปล่า คนบางคนทำงานเก็บเงิน ตระหนี่ถี่เหนียว เพื่อนำเงินทั้งหมดมาขอพรให้ตัวเองมีความสุข คนบางคนไม่ทำงาน แต่หาเงินมาขอพรให้รวย ให้ประสบความสำเร็จในชีวิต คนบางคนป่วย แต่นำเงินมาขอพรให้ตนเองหายป่วย แทนที่จะนำเงินไปซื้อยารักษาโรค และสิ่งสุดท้ายคือ บางครั้งหากเราโทรผิดเบอร์แบบที่ PK ได้บอก อาจทำให้เราแบ่งชนชั้น ถ้าคนมีเงิน สามารถทำบุญได้เยอะ ขอพรได้เยอะ ก็เหมือนกับว่าจะได้บุญมากกว่า มีหน้ามีตาทางสังคม และดูเป็นคนดีมากกว่าคนที่ทำบุญด้วยใจ หรือด้วยจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย

แต่หากบางคนอาจขอพรเพื่อให้จิตใจสงบ และได้เป็นผู้ให้ เท่านั้นก็ถือว่าเพียงพอแล้ว …

อ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่

กดติดตามเราได้ ที่นี่

By arbadahey

เสพติดการดูหนัง ฟังเพลงทุกแนว ทำงานได้ทุกสิ่งครอบจักรวาล เลี้ยงเจ้าเจ๋ง หน้าตาดูง่วงตลอดเวลา จริงๆคือก็ง่วงนั่นแหล่ะ
Founder of LUNGYOONNS

ใส่ความเห็น