
โดนหยุดงาน ออกจากงาน ช่วงไวรัส โควิด19 ระบาด ควรทำอย่างไร?

ในช่วงที่ไวรัส โควิด19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ หันไปทางไหนก็เจอกับปัญหาที่พนักงาน โดนสั่งหยุดงาน ปิดบริษัท หยุดสถานประกอบการ หรือแม้กระทั่งการเลิกจ้าง เหล่าคนทำงานนอกจากจะต้องเจอกับความยากลำบากในการหลีกเลี่ยงไวรัสแล้ว ยังต้องพบเจอกับปัญหาทางการเงิน ซึ่งยังมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบ ว่า การเลิกจ้างแบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ,การเลิอกจ้างแบบไม่เป็นธรรม หรือแม้แต่การสั่งลดเงินเดือนนั้น สามารถร้องเรียนและเรียกค่าเสียหายจากนายจ้างได้ วันนี้เราจึงได้นำข้อมูลเหล่านี้มารวบรวมไว้ให้ดูกัน
คนทำงานประจำ / ทำงานออฟฟิศ
สั่งหยุดงาน ลดเงินเดือนหรือหยุดสถานประกอบการ
1.โดนสั่งหยุดงานโดยหักวันลา

บริษัทสามารถสั่งให้พนักงานที่เดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยง หยุดงาน กักตัวอยู่ที่บ้านได้ถึง 14 วัน โดยที่สามารถเอาวันลาที่เหลืออยู่มาหักลบออกได้โดยไม่หักเงินเดือน แต่ถ้าหากว่าวันลาของพนักงานหมดแล้ว อาจจำเป็นต้องหาหนทางอื่นในการแก้ไขปัญหาแทน เช่นการ Work From Home เป็นต้น
ซึ่งตามข้อกฏหมายแรงงานระบุไว้ว่า “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน”

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กรณีที่ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดโรค หรือเป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19 จำเป็นต้องไปรับการตรวจรักษา หรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ ให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้าง ใช้สิทธิลาป่วย หรือใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายหรือตามที่ตกลงกัน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้นกับกิจการของนายจ้าง นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) หรือให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามหลักสัญญาต่างตอบแทน (No Work No Pay) หรือให้หยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ตกลงกับลูกจ้าง ตลอดระยะเวลาที่หยุดงานก็ได้
2.สั่งปิดที่ทำงานแบบจ่ายเงินเดือน

หากบริษัทของคุณสั่งปิดที่ทำงาน หรือหยุดสถานประกอบการชั่วคราว โดยไม่มีเหตุสุดวิสัย หรือใช้เหตุผลที่ว่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค หรือหยุดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย จำเป็นต้องจ่ายเงินให้คนทำงานไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้าง
3.สั่งปิดที่ทำงานแบบไม่จ่ายเงินเดือน

การสั่งปิดที่ทำงาน หรือหยุดสถานประกอบการชั่วคราว โดยไม่จ่ายค่าจ้าง สามารถทำได้ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคในที่ทำงานนั้นๆ ซึ่งจะนับว่าเป็นการหยุดเพราะเหตุสุดวิสัย
4.สั่งลดเงินเดือน

- นายจ้างจะไม่สามารถขอลดเงินเดือนได้ ถ้าหากว่าพนักงานไม่ยินยอม เพราะจะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง
- หากลูกจ้างยินยอม ต้องมีการเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ควรจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำ
- ต้องระบุระยะเวลาในการลดเงินเดือน และระบุว่าจะปรับเงินเดือนขึ้นในช่วงเวลาใด
การเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม หรือไม่จ่ายค่าชดเชย

การเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรมคืออะไร?
คือการที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันควร หากต้องการเลิกจ้าง นายจ้างจำเป็นต้องปฏิบัติตัวดังนี้
1.บอกกล่าวล่วงหน้า

- ถ้าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลา เช่น สัญญาจ้าง 1 ปี นายจ้างไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหากต้องการเลิกจ้าง
- ถ้าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลา คือไม่มีการระบุระยะเวลาการทำงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า อย่างน้อย 1 เดือน ถ้าไม่แจ้งล่วงหน้า ต้องจ่ายค่าตกใจ หรือสินจ้างแทนการบอกกล่าว 1 เดือน
2.การเลิกจ้างแบบต้องไม่จ่ายค่าชดเชย

- ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน (หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด)
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ในกรณีนี้ ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
หากถูกเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรมควรทำอย่างไร?

การถูกเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการไล่ออกจากงานโดยไม่มีความผิด การไล่ออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า สามารถส่งเรื่องฟ้องไปยังศาลแรงงาน และเรียกรับค่าชดเชยได้ดังนี้
- พนักงานที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึงปี ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- พนักงานที่ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ต้องจ่ายชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน
- พนักงานที่ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ต้องจ่ายชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน
- พนักงานที่ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ต้องจ่ายชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน
- พนักงานที่ทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน
- พนักงานที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายชดเชยไม่น้อยกว่า 400 วัน
อีกทั้งหากโดนไล่ออกแบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้าจะสามารถเรียกค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ชดเชยได้อีก 1 เดือน
ขอรับสิทธิอะไรจากประกันสังคมได้บ้าง?

1.นายจ้างไม่ให้ทำงาน หรือว่างงาน
ขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน จากสำนักงานประกันสังคม เช่นเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ประกันสังคมจะจ่ายให้เรา 7,500 บาท
**โดยจะต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน**
2.ลดเงินสมทบค่าประกันสังคม
ประกันสังคมลดอัตราเงินสมทบ เป็นร้อยละ 4 รวมถึงช่วยยืดเวลาการนำส่งเงินสมทบไปอีก 3-6 เดือน

ใครที่ถูกเลิกจ้าง หรือโดนนายจ้างเอาเปรียบแบบไม่เป็นธรรม สามารถสอบถามข้อมูล และขอความช่วยเหลือได้ที่เพจ แรงงานก้าวหน้า หรือเดินทางไปสอบถามและร้องเรียนได้ที่ศาลแรงงานได้โดยตรง
อ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่
กดติดตามเราได้ ที่นี่

